วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2556

   
 การโคลนนิ่ง

นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯเปิดเผยว่า การโคลนนิ่งมนุษย์ได้ถูกใช้ในการสร้างตัวอ่อนมนุษย์ได้สำเร็จ ซึ่งถือเป็นก้าวย่างสำคัญสำหรับวงการแพทย์ของโลก




โดยตัวอ่อนที่เกิดจากการโคลนนิ่งจะถูกใช้เป็นแหล่งของสเต็มเซลล์ ที่จะถูกนำไปสร้างกล้ามเนื้อหัวใจ กระดูก เนื้อเยื่อสมอง หรือเซลล์ชนิดอื่นๆภายในร่างกาย

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร"เซลล์" ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในการโคลนนิ่งเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์ได้เป็นครั้งแรก โดยใช้เทคนิคเดียวกับการโคลนนิ่งแกะ"ดอลลี"  สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวแรกของโลก ที่เกิดจากการโคลนนิ่งเมื่อปี 1996 ที่ประเทศอังกฤษ อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าการใช้สเต็มเซลล์จากแหล่งอื่นๆอาจง่ายกว่า ถูกกว่า และสร้างข้อถกเถียงน้อยกว่าวิธีการเช่นนี้  ส่วนฝ่ายที่คัดค้านกล่าวว่า การทำการทดลองกับตัวอ่อนมนุษย์เป็นเรื่องผิดศีลธรรมอย่างยิ่ง และเรียกร้องให้มีการยกเลิก

สเต็มเซลล์เป็นหนึ่งในความหวังครั้งยิ่งใหญ่ของวงการแพทย์ ความสามารถในการสร้างเนื้อเยื่อขึ้นใหม่ได้อาจนำไปช่วยรักษาความเสียหายจากอาการหัวใจวาย หรือใช้ซ่อมแซมเส้นประสาทไขสันหลัง โดยมีการทดลองนำสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนที่มีผู้บริจาค เพื่อใช้ในการรักษาการมองเห็นของผู้ป่วย อย่างไรก็ดี พบว่าเซลล์ดังกล่าวไม่สามารถเข้ากับร่างกายของผู้ป่วยได้
 
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย โอเรกอน เฮลธ์ แอนด์ ไซแอนซ์ ยูนิเวอร์ซิตี้  เปิดเผยความสำเร็จในการโคลนนิ่งเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์ได้เป็นครั้งแรก จากการพัฒนาตัวอ่อนให้เข้าสู่ระยะบลาสโตซิสต์ หรือระยะก่อนที่จะฝังตัวกับมดลูก  หรือราว 150 เซลล์ ที่มากพอที่จะใช้เป็นแหล่งสเต็มเซลล์ที่ได้จากตัวอ่อนระยะแรกๆ

นายแพทย์ชูกราต มาตาลิพอฟ นักวิจัยจากศูนย์วิจัยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแห่งชาติโอเรกอน เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์สเต็มเซลล์ที่ได้จากวิธีการดังกล่าวอย่างละเอียดถี่ถ้วน พบว่าสเต็มเซลล์มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์หลายประเภทเช่นเดียวกับสเต็มเซลล์ที่ได้จากตัวอ่อนตามธรรมชาติอาทิเซลล์ประสาท เซลล์ตับ และเซลล์หัวใจ อย่างไรก็ดี วิธีการดังกล่าวยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก เพื่อให้ได้สเต็มเซลล์ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ




วิธีการนี้คล้ายคลึงกับความสำเร็จของการโคลนนิ่งแกะ"ดอลลี"ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวแรกของโลกที่เกิดจากการโคลนนิ่งเมื่อ 17 ปีก่อน โดยการถ่ายฝากนิวเคลียสที่นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯใช้ คือ การนำเซลล์ผิวหนังทารกในครรภ์มารดา ซึ่งมีการพัฒนาเต็มที่แล้ว ฉีดเข้าไปในนิวเคลียสของไข่ ก่อนใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์ทำให้ไข่เริ่มแบ่งตัว โดยกระบวนการดังกล่าว ตามปกติแล้วจะเกิดขึ้นเฉพาะในเวลาที่ไข่ได้ผสมกับตัวอสุจิแล้วเท่านั้น
 
หลังจากกระบวนการนี้สิ้นสุดลงในอีกหลายวันต่อมาก้อนเซลล์ที่แบ่งตัวออกมาจะมีลักษณะทางพันธุกรรมแบบเดียวกับเซลล์ต้นแบบที่ใช้อย่างไม่ผิดเพี้ยน โดยในกรณีของการโคลนนิ่งแกะดอลลี นักวิทยาศาสตร์นำก้อนเซลล์ใหม่ที่ได้ ไปพัฒนาต่อเป็นตัวอ่อน และนำไปฝากในท้องของแกะตัวเมีย ก่อนคลอดออกมาเป็นแกะดอลลีในที่สุด

อย่างไรก็ดี ได้มีผู้ออกมาแสดงการคัดค้านวิธีการใหม่นี้เช่นกัน โดยแย้งว่าตัวอ่อนทุกประเภท ไม่ว่าจะเกิดจากธรรมชาติหรือห้องทดลอง มีศักยภาพที่จะเติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรมอย่างยิ่งที่ทำการทดลองเช่นนี้กับมนุษย์